Blog - 5 เห็ดกินได้ ในป่าเมืองไทย

5 เห็ดกินได้ ในป่าเมืองไทย
โดย Thamrong admin 8/8/2021 19:54 ข้อคิดเห็น

หลายๆครั้งที่เราเจอเห็ดในป่า คำถามแรกที่ทุกคนถามคือ “กินได้ไหม”

แม้ว่าจะมีเสบียงเต็มหลัง ก็ไม่วายมีความอยากลองแบบกล้าๆกลังๆอยู่ดี

ที่ว่ากล้าๆกลัวๆ เพราะเราคนเมืองทั้งหลาย คงแยกระหว่างเห็ดพิษและเห็ดกินได้ไม่ออกนั่นเอง

ซึ่งไม่ใช่สกิลที่คนกินเห็ดในตลาดที่เกิดจากการเพาะเชื้อเป็นส่วนใหญ่จะแยกแยะได้

เห็ดมันหน้าตาเหมือนๆกันไปหมด ใครจะไปแยกออก

 

วันนี้เรามาดูเห็ดยอดฮิตที่พบเห็นได้ในป่า ถือเป็นความรู้พื้นฐานให้รู้จักกันเบื้องต้น

ส่วนใครจะเอาไปใช้งานจริงนั้น แนะนำให้ถามผู้รู้อีกรอบใช้ชัวร์ๆดีกว่า

อย่าเพิ่งเอาชีวิตไปเสี่ยงกันเลย

 

1.เห็ดเผาะ

เห็ดเผาะ เห็ดถอบ เห็ดเหียง เห็ดหนัง เห็ดดอกดิน ชื่อเรียกเยอะมาก

หน้าตาเป็นก้อนๆ ค่อนข้างกลมมน หรือเป็นรูปรีๆเป็นรูปไข่ สีออกโทนน้ำตาลคล้ายสีดิน ไปจนถึงสีดำ

ไม่มีต้น ไม่มีราก ขึ้นมาก็กลมๆเลย ดูจากภายนอกไม่น่ากินเท่าไหร่

แต่พอได้กินแล้วเท่านั้นแหละ รับรองว่าจะติดใจกับเนื้อกรุบๆ หนุบๆแน่นอน

 

พื้นที่ที่เห็ดผาะชอบจะเป็นพื้นที่ไม่ค่อยมีแร่ธาตุอาหาร เป็นดินร่วนๆ ดินปนทราย ดินปนหิน

และมักจะขึ้นเมื่อเป็นดินที่ผ่านไฟไหม้มาแล้ว

เห็ดประเภทนี้จะอิงอยู่กับรากต้นไม้ โดยมีความสัมพันธ์ลับๆ ที่เอื้ออำนวยกัน

เห็ดจะเผาะจะสกัดอาหารโดยเฉพาะกลุ่มฟอสฟอรัสให้ต้นไม้

และต้นไม้ก็ให้คาร์โบไฮเดรตที่ได้จากการสังเคราะห์แสงกับเห็ด เพราะเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่สังเคราะห์แสงเองไม่ได้

แอบส่งส่วยกันอยู่บนพื้นดินแห้งแล้ง แร่ธาตุน้อยๆแบบนี้ จึงทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งสองอยู่ด้วยกันได้

 

สรรพคุณทางความเชื่อ

ที่บอกว่าเป็นสรรพคุณทางความเชื่อ เพราะยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ หรือทางการแพทย์

เป็นเพียงความเชื่อที่ส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน เขาเชื่อกันว่าสามารถใช้สปอร์ของเห็ดเผาะห้ามเลือดได้

ลดอาการอักเสบในข้อได้ และใช้ในการรักษาแผลไฟไหม้ได้ด้วย

จากความเชื่อเหล่านี้ มีนักวิทยาศาสตร์นำสปอร์มาสกัด และทดลองในห้องวิทยาศาสตร์

ปรากฎว่า ในเห็ดเผาะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบอยู่จริง

แต่นั่น เป็นเพียงการทดลองในห้องทดลอง ยังไม่ครบขั้นตอนทดสอบแบบเปรียบเทียบกับมนุษย์

ดังนั้นยังไม่ถือเป็นผลวิจัยที่ได้รับการรับรองแบบครบถ้วนสมบูรณ์

 

เห็ดเผาะชอบพื้นที่เขตร้อน มีอยู่ทั่วโลก มีบันทึกการพบเห็ดเผาะที่เนปาล ที่ระดับความสูงถึง 3000 เมตร

แต่ไม่เจอในที่หนาว หรือภูเขาหินปูน

ในต่างประเทศเรียกเห็ดเผาะว่า fallen stars เพราะเวลามันแก่มันจะแตกออกเป็นรูปดาว

บ้านเราจะไม่ค่อยเห็นมันแตกกันหรอก โดนผ่าลงหม้อกันตั้งแต่เป็นดอกตูมหมดแล้ว

 

เห็ดเผาะขึ้นช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน เป็นช่วงหลังฝนตกสัก 2-3 วัน แล้วร้อนอบอ้าว

พื้นที่ที่พบเยอะมักจะเป็นภาคเหนือ และอีสาน

จริงๆทางภาคกลาง และภาคใต้ก็มี แต่ไม่ค่อยเยอะ เนื่องจากมีความชื้นสูงกว่า

 

2.เห็ดโคน

เป็นอีกเห็ดที่ราคาสูง เพราะมีแค่ช่วงฤดูสั้นๆ ค่อนข้างจะหากินได้ยากเช่นกัน

ที่มันราคาสูง ไม่ใช่หาได้ยากในช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น แต่มันอร่อยด้วย

หน้าตาของเห็ดโคน จะเป็นรูปร่ม แต่ออกจะเป็นร่มที่หุบๆหน่อย

จริงๆมันก็บานขนานกับพื้นได้เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีชีวิตถึงตอนนั้นกันสักเท่าไหร่

รูปร่างที่เป็นร่มก็จะมีลักษณะเป็นร่มก้านยาวๆ ร่มเล็กๆ เรียกว่าไม่ค่อยสมดุลกับความยาวต้นเท่าไหร่

ตอนเป็นต้นอ่อนก็จะเป็นสีขาว ยิ่งโต ยิ่งผิวเข้ม ตั้งแต่อมเหลือง ไปจนถึงสีน้ำตาล

ตรงกลางยอดร่มจะสีเข้ม แล้วค่อยๆจางลง ชายร่มจะมีสีอ่อนกว่า

 

เห็ดโคนมีความสัมพันธ์แบบค่อนข้างเปิดเผยและไม่เคยนอกใจปลวก

ชาวบ้านทั่วไปจะรู้ว่าเห็ดโคนขึ้นอยู่กับจอมปลวก เลยมีอีกชื่อว่าเห็ดปลวก

จริงๆแล้วความสัมพันธ์นี้ยังอาจมีราอีกชนิดหนึ่งเข้ามาแทรกแซง เป็นเชื้อราสีดำที่มีลักษณะคล้ายเห็ดอยู่ในรังปลวกด้วย

ราชนิดนี้ไม่ได้แข็งแรงพอที่จะแทงยอดออกมาจากรังปลวกได้เหมือนเห็ดโคน แต่เป็นเชื้อราที่อยู่ในรังปลวกเช่นกัน

วุ้ย....เริ่มออกจะเป็นแนวกอสซิป เอาเป็นว่า เราจะมาสนใจแค่ปลวกและเห็ดโคนก็พอ

 

แรกเริ่มเมื่อเห็ดออกเป็นดอก จะมีสปอร์ ลมก็จัดสปอร์พวกนี้ไปตกในที่ต่างๆ

พอไปตกในที่เหมาะสม ทั้งความชื้น อุณหภูมิ และอินทรียวัตถุ มันก็จะเป็นสิ่งดึงดูดให้ปลวกมากิน และคาบเข้าไปในรัง

พออยู่ในรัง สปอร์ที่ติดตัวปลวกมา ก็จะขยายออกเป็นเส้นใยสีขาวในรังปลวก

ตัวอ่อนของปลวกก็จะกินเส้นใยพวกนี้เป็นอาหาร ยิ่งกิน ก็ยิ่งกระตุ้นให้มีการแตกตัวของเส้นใยมากขึ้น

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ปลวกน้อยโตขึ้น ก็จะกินเส้นใยพวกนี้น้อยลง แล้วกินอาหารแบบปลวกผู้ใหญ่

ปลวกก็จะเริ่มเป็นแมลงเม่า แล้วบินออกจากรัง ซึ่งก็เป็นช่วงก่อนฝนตกนั่นเอง

เมื่อใยของเห็ดโคนโดนทิ้ง เส้นใยก็จะเจริญไปทั่วรังเห็ด

สร้างเป็นเครือข่ายรากเทียม กลายสวนเห็ดในรังปลวก

จนกระทั่งจุดต่างๆที่เจริญเติบโตเต็มที่ ก็แทงทะลุพื้นดินขึ้นมาเป็นดอกๆ เพื่อตามหาปลวก

เอ้ย....ขึ้นมาให้เราได้กินกัน  คือเรากินของเหลือจากตัวอ่อนของปลวกนั่นเอง

 

เมื่อล่วงรู้ถึงความสัมพันธ์นี้ ทำให้เริ่มมีการทดลองเพาะเลี้ยงเห็ดโคนขึ้น

แต่การทดลองนั้น ก็ยังไม่ได้ผลที่ดีนัก จึงยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย

 

เห็ดโคนขึ้นได้ทั่วประเทศไทย ตราบใดที่จอมปลวกและแมลงเม่ายังคงมีอยู่

 เห็ดโคนในเมืองไทยมีอยู่ 2 สกุล และ 10 สปีชีส์  อันนี้บอกให้รู้ไว้เฉยๆ ใครอยากรู้ลึกกว่านี้ ไปตามอ่านใน Link Refer ด้านล่างได้เลย

 

ช่วงเวลาที่เห็ดโคนแทงออกมาจากรังปลวกในแต่ละพื้นที่นั้นไม่เท่ากัน

ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเห็ด และพื้นที่ที่อยู่ ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในช่วงฤดูฝน

เราจะพบเห็ดโคนได้ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ไปจนถึง ตุลาคมเลยทีเดียว

 

3.เห็ดระโงก

หน้าตาเห็ดระโงกคล้ายไข่ จึงมีชื่อเรียกว่าเห็ดไข่ด้วย

ดอกเห็ดมีสีขาวนวล สีครีมอมเหลืองไปจนถึงอมส้ม

เห็ดระโงกมีชีวิตคล้ายเห็ดถอบ รูปร่างตอนเด็กๆก็คล้ายกัน เป็นหัวมนๆโผล่มาจากพื้นดิน

แต่เมื่อโตขึ้น เห็ดระโงกมีลำต้น และดอกเห็ดบานออกเหมือนเห็ดทั่วไป

แต่เห็ดถอบ เมื่อแก่ไปการบานของดอกเห็ดที่ไม่มีต้น ดูเหมือนการแตกออกมากกว่า

 

วงจรชีวิตก็มีสัมพันธุ์ลับๆเหมือนเห็ดดถอบ คือมีการแอบส่งส่วยกับต้นไม้แบบเดียวกัน

เพียงแต่ต้นไม้ที่เห็ดระโงกมีความสัมพันธ์ด้วยมีหลายชนิดมากกว่า

จึงเกิดได้ง่ายกว่าเห็ดถอบ  และถูกนำมาเพาะเลี้ยงได้สำเร็จในที่สุด

 

ต้นไม้ที่นิยมนำมาใช้เพาะพันธุ์เห็ดระโงกมากที่สุด เป็นต้นยางนา

ต้นยางนาโตเร็ว ให้ร่มเงา ให้ความชื้น ให้อินทรีย์วัตถุ เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเห็ด

ที่สำคัญมีการทดลองที่ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอบนรากยางงนาที่เพาะเชื้อเห็ดไว้

ทำให้เห็ดออกนอกฤดูได้ แน่นอนว่าผลผลิตนอกฤดูทำให้ได้ราคาที่สูงขึ้นด้วย

 

เห็ดระโงกมีหลายชนิด ย่อยยิบไปตามสายพันธุ์ เกือบทุกสายพันธุ์กินได้

ใช่แล้ว มีเห็ดระโงกบางชนิดกินไม่ได้

ดังนั้นการกินเห็ดชนิดนี้ ไม่รู้จริงก็ค่อนข้างเสี่ยง

 

สายพันธุ์ที่กินไม่ได้เรียกว่า เห็ดระงาก หรือเห็ดระโงกหิน

เมื่อตอนที่มันตูมบอกเลยว่าดูหน้าตาแยกไม่ออกว่าอันไหนกินได้ กินไม่ได้

บางคนอาจจะแยกได้ด้วยกลิ่นเอียนที่ค่อนข้างรุนแรง

เมื่อบานแล้ว เห็ดระโงกหินจะมีก้านที่ยาว ตรงกลางหมวกนูนกว่าเห็ดระโงกพันธุ์อื่น

แต่อย่างไรก็ยังแยกด้วยสายตายากอยู่ดี จึงมีข่าวการกินเห็ดพิษเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ

 

สารพิษหลัก คือ แอลฟาอะแมนิติน (α-amanitin)

ซึ่งเป็นสารที่ยังคงความเป็นพิษแม้จะนำไปต้ม หรือทำให้สุกโดยผ่านความร้อนสูงแล้วก็ตาม

พิษของมันทำลายตับและไตอย่างรวดเร็ว ทำให้คนกินเสียชีวิตได้

 

4.เห็ดน้ำหมาก / เห็ดแดง / เห็ดก่อ

หลายๆคนอาจจะไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยิน

เห็ดน้ำหมากเป็นเห็ดป่าที่ไม่ค่อยมีราคาเหมือน 3 ชนิดข้างต้น จึงไม่ค่อยมีคนสนใจ

เมื่อคนสนใจน้อย การแย่งชิงก็น้อยลงด้วย

เห็ดราคาสูงๆนั้น ไม่ใช่ว่าจะหากันได้ง่ายๆ ต้องทุ่มทุนสร้างกันพอสมควร

ครั้นมองไปที่เห็ดชนิดอื่น ก็ดูหน้าตาคล้ายกันไปเสียหมด ไม่รู้อันไหนกินได้ กินไม่ได้

เห็ดส่วนใหญ่จะขึ้นบนดินปนทราย แต่เห็ดน้ำหมากชอบขึ้นบริเวณที่มีหญ้าคลุมพื้น

เห็ดน้ำหมาก  เป็นเห็ดที่มีผิวด้านบนของดอกสีแดง แต่ด้านล่างของครีบเห็ดจะมีสีขาว 

เนื้อข้างในถ้าบิ หรือหักดูจะเป็นสีขาว รากหรือโคนเห็ดที่อยู่ในดินจะมีจุดสีน้ำตาลคล้ายสีสนิม

มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ไม่มีเปลือกหุ้ม ไม่มีวงแหวน  โคนเป็นรูปใบพาย ก้านมักเป็นโพรง

เมื่อบานเต็มที่ ดอกเห็ดตรงกลางจะบุ๋มลงเล็กน้อย

 

ดูสีสันแล้วน่าจะเป็นเห็ดพิษ เพราะสีฉูดฉาดมาก

ยิ่งเอามาต้มด้วยแล้ว น้ำแดงทั้งหม้อเลยทีเดียว

ดูน่ากลัวแต่เป็นเห็ดกินได้ แค่ต้องนำมาต้มหรือผ่านความร้อนเสียก่อน

ผู้เขียนเคยเก็บกินในป่า ยังมีชีวิตรอดมาจนถึงทุกวันนี้

แต่...แต่...แต่...มันก็มีเห็ดบางชนิดที่มีลักษณะคล้ายกัน และเป็นพิษ

หากแยกไม่ออก วางไว้ที่เดิมดีที่สุด

 

5.เห็ดหูหนู

ไหนว่าเป็นเห็ดป่า ทำไมมีเห็ดหูหนูรวมอยู่ด้วย

นั่นเพราะเห็ดหูหนูยังคงมีอยู่ในป่า ขึ้นเองได้ในธรรมชาติ

เพียงแต่มันถูกเพาะเชื้อได้แล้ว จึงไม่มีใครเข้าป่าไปหาเห็ดหูหนูกัน

 

ในสายตาของคนเมือง เห็ดชนิดนี้แยกได้ไม่ยาก เราคุ้นชินมันอยู่แล้ว ไม่ต้องแนะนำอะไรกันมาก

เป็นเห็ดที่เจอที่ไหนก็ดูออก ส่วนจะเก็บไปทำอาหารหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ด้วยความที่มันเป็นเห็ดที่เราเห็นบ่อย ต่อให้เจอในป่าก็ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร

ความสำคัญอย่างหนึ่งของเห็ดหูหนูคือ มันเป็นเห็ดในป่าอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่เราเรารู้จักดี

 

เห็ดหูหนูจะเกิดขึ้นได้เองบนตอไม้ผุหรือต้นไม้ที่ตายแล้วในที่มีความชื้นสูง

ช่วงฝนตกชุกๆ บางทีมันก็เกาะอยู่ตามต้นไม้ที่เราผูกเปลเลยด้วยซ้ำ

ผู้เขียนเคยหยิบมากินเล่นสดๆ รสชาติแตกต่างกับที่เขาขายในตลาดนิดหน่อย

มีความซ่าลิ้นมากกว่า มีความกรุบ หนุบมากกว่า

 

คนจีนโบราณเชื่อกันว่า เห็ดหูหนูให้สรรพคุณที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด

ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย หอบหืด

ในทางการวิจัยพบว่าเห็ดหูหนูมีสาร Adenosine ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่อยู่ในกระเทียม และหอมหัวใหญ่

สารตัวนี้ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด   ลดการเกาะตัวเป็นลิ่มเลือด อันเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ

ในทางกลับกันผู้ที่มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือด ก็ควรหลีกเลี่ยง

เห็นรูปนี้แล้วเข้าใจเลย ว่าทำไมฝรั่งจึงเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า EAR WOOD

 

จบไปแล้วกับ 5 เห็ดกินได้ในป่าเมืองไทย อย่างที่รู้กันว่า ในป่าบ้านเรามีเห็ดกินได้อีกหลายชนิด

ไม่ต้องรีบ เราค่อยๆเรียนรู้ ค่อยๆทำความเข้าใจธรรมชาติของมันไป

การเรียนรู้เรื่องเห็ด เป็นเรื่องสนุกไม่แพ้การเรียนรู้เรื่องดูดาว ดูทิศ เลยทีเดียว

โอกาสดีๆ เราอาจมีทริปออกไปเก็บเห็ดกันก็ได้ ใครจะไปรู้

เรียบเรียงโดย ข้าวขาว @ชมรมเท้ากีบ

สิงหาคม ๒๕๖๔

 

Refer

https://termite-data.msu.ac.th/termite/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%81/

https://sites.google.com/site/heddpaanakinn/hed-pa-kin-di-10-chnid/3-hedo-khn

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%B0

https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_89173

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%99

https://www.biotec.or.th/th/index.php/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B5-2560/1135-mushroom

https://sites.google.com/site/heddpaanakinn/hed-pa-kin-di-10-chnid/i-hed-na-hmak

https://www.wongnai.com/food-tips/how-to-boil-barometer-earthstars-like-a-boss

 

https://www.thailandplus.tv/archives/66579

https://gnews.apps.go.th/news?news=42188

 

 

Post Comments

* ข้อมูลที่จำเป็น

เราไม่ส่งอีเมล์รบกวนบ่อย จะส่งเฉพาะมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ลดราคาประจำปี หรือ โปรโมชั่นใหญ่ๆ เท่านั้น