Blog - มารู้จักส่วนต่างๆของฮาร์เนสปีนหน้าผากัน

มารู้จักส่วนต่างๆของฮาร์เนสปีนหน้าผากัน
โดย Thamrong admin 11/7/2021 23:06 ข้อคิดเห็น

มารู้จักส่วนต่างๆของฮาร์เนสปีนหน้าผากัน

เวลาเลือกฮาร์เนสสักตัว เราจะพบกับศัพท์แปลกๆที่เขาบอกว่ามันดีอย่างนั้น แข็งแรงอย่างนี้

แต่เรากลับมึนว่า สิ่งที่เขาเรียกมันคืออะไร

เรามาดูส่วนต่างๆของฮาร์เนสกันว่ามันเรียก และมีไว้ทำอะไร

ฮาร์เนสที่ใช้ในการปีนหน้าผา มักจะเป็นฮาร์เนสแบบครึ่งตัว ไม่มีตัวท่อนบน หรือ Chest Harness

เพื่อความคล่องตัวในการปีน มีครึ่งตัวด้านล่างที่เบาๆสบายๆ ก็เพียงพอแล้ว

เว้นแต่จะใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆที่ต้องใส่อุปกรณ์เพิ่มขึ้น

ซึ่งในบางแบรนด์ บางรุ่น ก็จะมีส่วนของ Chest ขายแยก

Harness ส่วนที่อยู่ด้านล่าง ตั้งแต่เอวลงมา ปกติเราจะแบ่งออกเป็น Sit Harness แต่ก็จะเรียกกันว่า ฮาร์เนส คำเดียวนี่แหละ

ส่วนที่อยู่เหนือเอวขึ้นไป เราจะเรียกมันว่า Chest Harness ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในบทความนี้ เพราะจะทำให้ยาวเกินไป

 

ส่วนประกอบที่สำคัญของฮาร์เนส

Waist Belt หรือสายรัดเอว สายรัดเอวจะเป็นตัวรับน้ำหนัก ดังนั้นจะเป็นต้องมีความแข็งแรงมากๆ และต้องให้ความนุ่ม ความสบาย เมื่อมีการแขวนตัวอยู่เป็นเวลานานๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะมีโอกาสทิ้งน้ำหนักไว้บนฮาร์เนสไว้นานขนาดไหนด้วย

ขอบที่สายรัดเอวกว้างมากเท่าไหร่ ก็หมายถึงการกระจายแรงกดทับมากเท่านั้น แต่มันจะเกะกะ และกลายเป็นสิ่งเกินจำเป็น ถ้าเราใช้ในการปีนแค่สั้นๆ

 

Leg Loop สายรัดขา เช่นเดียวกันกับ Waist Belt คือเป็นตัวรับน้ำหนัก เมื่อเราอยู่กลางอากาศ เท้าไม่ติดพื้น มันควรต้องมีความเบาสบายที่สมดุลกับการรับน้ำหนักที่เราต้องการ

ในช่วงเวลาที่ลอยอยู่กลางอากาศนั้น ถ้ามีการถ่ายน้ำหนักจากเอวบางส่วนมาอยู่ที่ขาบ้าง จะช่วยให้มีการเกร็งที่หลังน้อยลง ดังนั้นฮาร์เนสจึงมีการออกแบบมาให้มีการถ่ายน้ำหนักไปที่ Leg Loop ด้วย

 

Buckles แปลตรงตัวคือหัวเข็มขัด ซึ่งก็แปลตามหน้าตาและหน้าที่ของมัน มันทำหน้าที่เป็นตัวปรับให้มีความกระชับ หรือพอดีกับสรีระของผู้สวมใส่ จุดที่จำเป็นจะต้องมี Buckle คือตัวรัดเอว และตัวรัดขา

 

จุดนี้ดูเหมือนไม่มีความสำคัญ แต่ที่จริงก็สำคัญมาก จุดที่ปรับให้กระชับนี้หากมีการหลุด ลื่น จะเป็นอันตรายมาก แม้แต่การปรับแบบหลวมมากเกินไป หากมีการตกกระชากเกิดขึ้น จะมีฮาร์เนสแบบสอร์ตบางรุ่นที่ไม่มี Buckles ที่ Leg Loop เพื่อความสบายในการเดิน หรือก้าวขาได้อย่างสบายๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับการปีนภูเขาสูงอย่าง Mountaineering มากกว่า เพราะการใส่ฮาร์เนสทับลงบนเสื้อผ้าหนาๆ แทบจะหาความกระชับที่พอดีไม่เจอ จึงเหมาะที่จะใช้ Leg Loop ที่รัดด้วย Elastic มากกว่า Buckles หรือคนที่ใช้ฮาร์เนสประเภทนี้ก็จะเป็นคนที่เข้าใจขนาดที่พอดีสำหรับตัวเองแล้ว ไม่แนะนำให้เป็นฮาร์เนสตัวแรกสำหรับมือใหม่

 

Belay Loop เป็นห่วงที่เชื่อมต่อระหว่าง Waist Belt กับ Leg Loop ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของ Harness ที่จำเป็นต้องมี

Belay Loop ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆเข้ากับฮาร์เนส ซึ่งถ้าเรียกชื่อจริงของมันก็คือ D-Ring นั่นเอง แต่ด้วยฮาร์เนสปีนหน้าผาจะใช้จุดนี้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์บีเลย์ หรืออุปกรณ์สำหรับโรยตัวเป็นหลัก จึงเรียกมันว่า Belay Loop

 

D-Ring บนฮาร์เนสจะมีมากกว่าหนึ่งจุดก็ได้ หน้าที่ของมันคือเป็นตัวเชื่อมต่อหลักของตัวฮาร์เนสกับอุปกรณ์ แต่ในฮาร์เนสสายกีฬา มักจะมี D-Ring เพียงจุดเดียว ในขณะที่ฮาร์เนสที่ใช้ในการทำงาน อาจจะจำเป็นต้องใช้ 2 จุด ถึง 5 จุด เพื่อความปลอดภัย

หน้าตาของ D-Ring ในแต่ละรุ่น แต่ละแบรนด์ อาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการออกแบบ

ตัว Belay Loop เป็น D-Ring ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฮาร์เนสสำหรับปีนหน้าผาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะแบรนด์ไหน ก็จะทำเป็นรูปแบบเป็นห่วงแนวตั้งด้านหน้าแบบนี้

 

Tie-in Loop จะเป็น2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ที่ Waist Belt และอีกชิ้นหนึ่งอยู่ที่ระหว่าง Leg Loop ทั้งสองข้าง ทั้งสองส่วนจะถูกคล้องไว้ด้วย Belay Loop

Tie-in Loop เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของฮาร์เนสสำหรับปีนหน้าผา เพราะใช้เป็นจุดที่ร้อยเชือกเข้าไปใน 2 ห่วงนี้ แล้วใช้เงื่อนเลขแปด หรือ Figure eight follow through ในการเซฟตี้ผู้ปีน

การที่ไม่ใช้คาราบิเนอร์คล้องที่ Belay Loop เพราะการ Tie-in จะมีการกระจายแรงได้ดีกว่า เมื่อมีการตกกระชาก และเป็นการลดอันตรายจากความผิดพลาดของอุปกรณ์ได้ด้วย

และหากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ D-Ring อีกจุด เราก็ยังเหลือ Belay Loopไว้ใช้งานได้

ดังนั้นตัว Belay Loop และ Tie-in Loop จึงจำเป็นต้องแข็งแรงมากๆ เพราะเป็นจุดที่รับน้ำหนักทั้งหมด

 

Gear loop ยังไม่ไม่หมดห่วง บนฮาร์เนสยังมีห่วงอุปกรณ์ ที่เรียกว่า Gear Loop อีก ส่วนนี้มีความสำคัญ แม้จะไม่ใช่ตัวรับน้ำหนัก แต่มันทำหน้าที่แบก และขนอุปกรณ์เช่น คาราบิเนอร์ ควิคดรอว์ (Carabiner, Quickdraw) ติดตัวขึ้นไป

 

มือใหม่หลายคนจะสับสนระหว่างหน้าที่ของ D-Ring และ Gear Loop เพราะหน้าตามันเป็นห่วงเหมือนกัน

แต่หน้าที่นั้นต่างกันอย่างชัดเจน ใช้แทนกันไม่ได้เป็นอันขาด

เพราะ Gear loop ไม่ได้ออกแบบมาให้รับน้ำหนักมากๆ มันออกแบบมาให้มากสุดแค่น้ำหนักเครื่องมืออุปกรณ์เท่านั้น ไม่ได้เอาไว้รับน้ำหนักชีวิตใคร

 

จำนวนของ Gear loop ในแต่ละรุ่น ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ใช้ ถ้าใช้ปีนหน้าผาธรรมดา แทบจะไม่ต้องใช้ Gear Loop เลยด้วยซ้ำ อาจจะแค่1-2จุดเพื่อแขวน Chalk Bag ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าหากต้องปีนขึ้นไปเพื่อเซ็ตเส้นทาง การมี Gear Loop เยอะๆ ก็สะดวกดี จำนวน Gear Loop ที่เหมาะสมกับการใช้งานปีนทั่วไปอยู่ที่ 2-4 ห่วง

 

Elastic Strap หรือ Elastic Band มาถึงส่วนสุดท้าย เป็นสายยางยืดเล็กๆที่อยู่ด้านหลังฮาร์เนส ตัวนี้มีหน้าที่รั้งด้านหลังของ Leg loop ให้อยู่กับ Waist Belt ในระยะห่างที่พอดี จัดระเบียบให้อยู่เป็นรูปเป็นทรง

 

จบไปแล้วกับโครงสร้างของฮาร์เนสสำหรับปีนหน้าผา ทีแรกจะเขียนถึงฮาร์เนสเฉพาะสายกีฬา เมื่อค้นเนื้อหา ข้อมูลแล้ว คิดว่ายาวเกินไป แทบจะเป็นหัวข้อของแต่ละชิ้นส่วนได้เลย พอคิดไปคิดมา คิดว่าจับประเด็นกีฬาที่มีคนสนใจเยอะๆน่าจะเป็นประโยชน์กว่า ก็เลยได้ตัดข้อมูลปลีกย่อยบางส่วนออกไป เหลือแต่สิ่งทีคิดว่าจำเป็นไว้ หากผู้สนใจต้องการหาข้อมูลเพิ่ม จะได้เข้าใจคำศัพท์ต่างๆและนำไปค้นหาเพิ่มเติมต่อได้ในภายหลังได้ โลกของนักปีน รอคุณอยู่

 

เรียบเรียงโดย ข้าวขาว

กรกฎาคม ๒๕๖๔

 

 

Post Comments

* ข้อมูลที่จำเป็น

เราไม่ส่งอีเมล์รบกวนบ่อย จะส่งเฉพาะมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ลดราคาประจำปี หรือ โปรโมชั่นใหญ่ๆ เท่านั้น