Blog - เสปคผ้า น่าปวดหัว ตอนที่ 2

เสปคผ้า น่าปวดหัว ตอนที่ 2
โดย Thamrong admin 22/9/2021 23:11 ข้อคิดเห็น

นอกจากประเภทของเส้นใย ที่มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย อย่าง Polyester และ Nylon แล้ว

ตัวเลขที่ตามหลังมาก ลงท้ายด้วย T และ D มีความแตกต่างกันอย่างไร ต้องดูตัวไหนเป็นหลัก

บางแบรนด์ บอกมาทั้ง 2 ค่า บางแบรนด์บอกทีละค่า แล้วเอามาเทียบกันอย่างไร

 

เรามาดูความหมายของมันทีละตัว

D มาจากคำว่า Denier เป็นหน่วยวัดที่บอกน้ำหนักของเส้นด้ายที่ความยาว 9000 เมตร

T มาจากคำว่า Threads เป็นหน่วยบอกความหนาแน่นของเส้นใย 1 ตารางนิ้ว

 

ทั้ง D และ T มักจะใช้กับเส้นใยสังเคราะห์ ที่มีความเล็ก เบา และมีความยาวมากกว่าเส้นใยธรรมชาติ

คือมันแข่งกันเล็กมาก จนวัดกันเป็นหน่วยตามที่เราเคยรู้จักอย่าง มิลลิเมตร นิ้ว อะไรแบบนี้ไม่ได้แล้ว

และถ้าวัดได้ เราก็จะเจอตัวเลขยกกำลังกันให้สับสน จนนึกภาพไม่ออกเหมือนเดิม

 

ดูจากความหมายของ D และ T แล้ว ก็จะมองภาพออกได้ว่า

D เป็นตัวบอกขนาดของเส้นใย แม้ว่ามันจะวัดออกมาเป็นหน่วยน้ำหนักก็ตาม

เพราะเมื่อเส้นใยที่ความยาว 9000 เมตร หรือ 9 กิโลเมตรนั้น หนักมาก ก็แสดงว่า เส้นใยมันใหญ่ ถึงได้หนัก

ถ้าตัวเลขมันน้อย ก็แสดงว่า เส้นใยมันเล็กมาก ยาวตั้ง 9 กิโลเมตร ยังมีน้ำหนักน้อยมาก

การผลิตเส้นใยสังเคราะห์นั้น ทำให้มีขนาดได้เล็กมาก ถึงขั้นต่ำกว่า 10D 

เส้นใยที่มีขนาดต่ำกว่า 10D เล็กมากขนาดที่เมื่อนำมาทอแล้วยังมีลักษณะโปร่งแสงได้

เส้นใยที่มีขนาด 10-40D จะมีความทึบแสงมากขึ้นตามลำดับ เช่น เต็นท์ MSR จะเป็นไนลอน 20 D เราก็จะเห็นว่า เมื่อมีแสงส่องผ่านเพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถมองทะลุเป็นเงาบนฉากหลังได้

เส้นใยที่มีความทึบแสงจะมีขนาดมากกว่า 40D

ในความเป็นจริงแล้วตอนวัด เขาก็ไม่เอาเส้นใยมาวัดที่ความยาว 9000 เมตรมาวัดจริงๆ เพราะมันยุ่งยาก

เขาใช้วิธีวัดแค่ 900 เมตร แล้วเอาน้ำหนักไปคูณ 10 แทน

 

T เป็นตัวเลขบอกความหนาแน่นของการทอ ตัวเลขที่อยู่กับ T จะเอามาหารครึ่ง

เป็นจำนวนเส้นใยในแนวตั้ง และแนวนอน อย่างละครึ่ง บอกให้รู้ว่าในหนึ่งตารางนิ้ว มันมีเส้นใยแน่นมากขนาดไหน

เช่นเต็นท์ Blackdeer ที่เป็น 190T Polyester ก็แสดงว่าในพื้นที่ 1 ตารางนิ้ว มีเส้นใยโพลีเอสเตอร์ในแนวตั้ง 95 เส้น และเส้นใยในแนวนอน 95 เส้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากเส้นใยมีขนาดใหญ่ จำนวนพื้นที่ในหนึ่งตารางนิ้ว ตัวเลขมันอาจจะน้อย ทั้งที่มีการทอที่แน่นหนามาก

เช่นเดียวกัน หากเส้นใยมีขนาดเล็ก แต่ตัวเลขของ T ไม่ได้มากขึ้นด้วย หมายถึง การทอนั้น มันก็ไม่ได้แน่นอะไร

ดังนั้น ตัวเลขทั้ง 2 ตัว ถ้าดูประกอบกันได้จะดีที่สุด

 

การที่เราเข้าใจแบบนี้ ก็จะมีแนวโน้มว่า เราน่าจะอยากได้ค่า D น้อยๆและ T สูงๆ

ในความเป็นจริง หาก D น้อย หมายถึงขนาดเส้นใยมีความเล็ก และเบามากก็จริง

แต่ในแง่ของความทนทานของเส้นใยนั้น อาจจะทำให้เราต้องทะนุถนอมมันอย่างมาก

โอกาสทนต่อการเกี่ยว การเจาะนั้นค่อนข้างต่ำกว่าผ้าที่มีความหนากว่าอยู่แล้ว

ส่วนค่า T ที่สูงมากๆ หรือเป็นการทอที่มีความแน่นมาก โอกาสที่จะเป็นผ้าระบายอากาศได้ หรือ Breathable ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก

เว้นแต่ว่า มันอยู่กับอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผ้า breathable

 

บทสรุปคือ เราไม่จำเป็นต้องดูว่าตัวเลขสูงกว่า หรือต่ำกว่าในทุกครั้ง แต่ควรเห็นตัวเลขแล้วมองออกว่า สเปคผ้าชิ้นนั้น มันให้คุณสมบัติอะไรบ้าง

มีจุดเด่น จุดด้อย อย่างไร มองผ้าให้ออก เหมือนการ “คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ(ผ้า)”

แต่ถ้านั่งอยู่บ้านดูเนื้อผ้าจริงๆไม่ได้ ต้องช็อปออนไลน์ ก็ต้องดูสเปคผ้าให้เป๊ะไว้ก่อน

 (ตอนที่ 1 Polyester VS Nylon)

ข้าวขาว

กันยายน 2021

 

Post Comments

* ข้อมูลที่จำเป็น

เราไม่ส่งอีเมล์รบกวนบ่อย จะส่งเฉพาะมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ลดราคาประจำปี หรือ โปรโมชั่นใหญ่ๆ เท่านั้น