Blog - 5 ไอเดีย แพ็คอาหารสำหรับทริปเดินป่า

5 ไอเดีย แพ็คอาหารสำหรับทริปเดินป่า
โดย Thamrong admin 18/7/2021 23:00 ข้อคิดเห็น

เราคงไม่ได้อยากกินอาหารสำเร็จรูปไปในทุกมื้อ แรกๆอาจจะพบว่า มาม่าที่อร่อยที่สุด ปลากระป๋องวิเศษ หรือสนุกกับการได้ลองรสชาติอาหารซองสำเร็จรูปแบบต่างๆ

แต่เมื่อหลายๆทริปเข้า เราคงไม่ได้ชื่นมื่นกับมันอีกต่อไปแล้ว

 

ความท้าทายในการเดินป่าช่วงแรกๆ เป็นการท้าทายร่างกาย และจิตใจ

การเดินไปสู่เป้าหมาย การเดินไปเพื่อพิชิต เดินไปเพื่อได้ชื่นชมสายหมอก ชมพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เป็นเรื่องตื่นเต้น

จนไม่รู้สึกว่าต้องพิถีพิถันกับเรื่องการกินมากเท่าไรนัก กินอะไรง่ายๆ ไม่ต้องยุ่งยาก ก็เพียงพอแล้ว

 

ในขณะที่วันหนึ่ง เป้าหมาย วิวทิวทัศน์ กลายเป็นความเคยชิน ความสนุก ความตื่นเต้นก็จะค่อยๆน้อยลง

กลายเป็นบรรยากาศในเส้นทาง และการได้ร่วมแคมป์กับเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเพื่อนใหม่ หรือเพื่อนเก่าที่คุ้นเคย จะกลายเป็นเสน่ห์ใหม่ที่เข้ามาแทนที่

และหากการร่วมวง เป็นการต้มมาม่า หรือแกะอาหารสำเร็จรูป เสน่ห์มันคงจะหายไปไม่น้อย

อุปสรรคแรกของการทำอาหารในป่า ที่ไม่มีตู้เย็น กระติกน้ำแข็ง ลังโฟม

คือการแพ็คสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ได้นาน ไปได้แบกไปเน่าเสียกลางทาง

บทความนี้จะมานำเสนอไอเดียต่างๆ ที่จะทำให้คุณได้กินอาหารสุดหรูกลางป่าเลยทีเดียว

 

1.การแพ็คไข่

ผู้เขียนมักจะได้ยินว่า ข้าวสวย และไข่เจียวร้อนๆนี่อร่อยมากกกกกกก

เบื้องหลังคำนี้ประมาณการได้ว่า คนพูด 80-90% คงไม่ได้เป็นคนแบกไข่ดิบเข้าไปแน่ๆ

ไข่เจียว ดูเป็นอาหารที่ง่าย และรวดเร็ว ทุกคนชอบ

แต่เบื้องหลังนั้น การแบกไข่เข้าป่า ไม่ใช่หิ้วเข้าไปได้ง่ายๆ เพราะไข่มันแตกง่าย

ในทริปสั้นๆ ไม่เกิน 2 วัน เราอาจจะพอมีโอกาสได้กินไข่เจียว

แต่ถ้าเป็นทริปเกิน 2 วัน ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะรักษาไข่ดิบไว้ให้รอดปลอดภัย

วิธีการแพ็คไข่ มีหลายวิธี วิธีที่นิยมคือ

1 ตอกไข่ใส่ถุง มักใช้กับทริปสั้นๆ เพราะไข่ที่ตอกออกมาแล้ว จะอยู่ได้ไม่เกิน 2 วัน ก็จะมีกลิ่นอันไม่โสภา  วิธีการคือตอกใส่ถุงพลาสติก แล้วมัดยางไว้ให้แน่น จากนั้นก็ซ้อนถุงเข้าไปอีกชั้น เพื่อป้องกันการไหลเยิ้ม ถ้าจะไหลออกมาได้ ก็ไหลน้อยหน่อย ใครมีประสบการณ์ ไข่แตกใส่เป้ รับรองว่าจะขอเป็นคนมัดเองในคราวหน้า หรือไม่ก็เลิกแบกไข่ไปเลย

2 ตอกไข่ใส่ขวดพลาสติก วิธีการคล้ายๆกับการตอกใส่ถุง แต่มีข้อดีคือมันจะไหลออกมาได้ยากกว่า เพราะปากขวดมันจะตั้งขึ้น และเอามาเสียบไว้ข้างเป้ได้ ไม่ต้องใส่ไว้ในเป้

ข้อเสียของมันก็จะมีเรื่องขั้นตอนการแพ็ค เพราะปากขวดมันเล็ก ต้องใช้กรวยในการกรอกลงไป และส่วนใหญ่ไข่ที่ได้เมื่อถึงแคมป์ ไข่ขาวและไข่แดงมันจะปนกันเรียบร้อย ต่อให้ไม่ปนกัน ตอนเทออกจากปากขวดเล็กๆ ไข่แดงก็แตกอยู่ดี

2วิธีแรกนี้ โอกาสจะได้กินไข่ดาวน้อยมาก ถ้าคาดหวังไข่ดาวในแคมป์ มองข้าม 2 ข้อนี้ไปได้เลย

 

3 ห่อด้วยกระดาษใส่ลงไปในหม้อสนาม หรือหม้อ หรือกล่องทั่วไป เป็นการแพ็คลงในอุปกรณ์ที่เราตั้งใจจะเอาไปใช้งานอยู่แล้ว แต่การใส่ลงไปธรรมดา ก็อย่าได้คาดหวังว่ามันจะไม่แตก เพราะเราไม่ได้เดินกันอย่างระมัดระวังทุกฝีก้าว ไหนจะมุด ลอด คลาน ยังไม่คิดถึงตอนลื่นล้ม หรือลืมตัววางเป้แรงๆ หรือลืมตัวนั่งทับเป้ระหว่างทาง สารพัดที่จะทำให้ไข่อันเป็น “อาหารง่ายๆ”เสียหายได้

วิธีการแพ็คจึงต้องมีขั้นตอนลดความเสียหาย ที่ใช้กันบ่อยคือห่อด้วยกระดาษ ไม่ว่าจะกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษโฆษณา หรือแม้แต่กระดาษทิชชูก็ใช้ได้ ขอให้มันทำหน้าที่เป็นตัวกันกระแทกได้ก็พอ

ห่อเสร็จ ก็จะเรียงกันลงไปในภาชนะ แล้วก็ยัดกระดาษเข้าไปในช่องว่างให้เต็ม เป็นการลดพื้นที่ที่ไข่จะขยับตัวไปกระแทกกันได้ วิธีนี้ส่วนใหญ่ถ้าจะแตกบ้างก็ไม่มาก ยังมีโอกาสรอดมาเป็นไข่ดาวสูงกว่า 2 วิธีแรก

4 แพ็ครวมกับข้าวสาร ส่วนใหญ่ก็จะแพ็คใส่ในหม้อสนาม หรือหม้อ หรือกล่อง เหมือนการห่อด้วยกระดาษ ต่างกันเพียงใช้ข้าวสารแทนกระดาษ ใช้หลักการลดช่องว่างในการขยับตัวเหมือนกัน ตอนแพ็คง่ายมาก เพียงแค่ใส่ข้าวสารลงหม้อ เรียงไข่ลงไป แล้วเทข้าวสารลงไปปิดช่องว่าง วิธีนี้ลดการแตกได้ดีมาก ถ้าแตกก็ไม่หกไหลเลอะเทอะ เกาะติดอยู่กับข้าว และข้าวก็ยังใช้หุงได้เหมือนเดิม อย่างมากก็เสียแค่ไข่ที่แตก ไม่ได้มีอะไรเสียหายเพิ่มเติม อาจจะมีเปลือกไข่อยู่ในข้าวสวยนิดหน่อย

วิธีที่ 3 กับ 4 เหมาะกับการแพ็คไข่สดปริมาณไม่มาก เพราะ 1 หม้อ จะใส่ไข่ได้ไม่เกิน 10 ใบ ใน 1 ทริป 6-10 คนก็จะได้ไข่เจียวสัก 2-3 จาน แต่เป็นการแพ็คให้ไข่คงสภาพดีได้ยาวนานกว่าการตอกไปก่อนแบบวิธีที่ 1 และ 2 ทำให้เก็บไว้ทำอาหารในวันที่ 2 -3 ได้ ไม่จำเป็นต้องรีบกำจัด

 

5 แพ็คใส่กล่องสำหรับใส่ไข่ อันนี้ก็เป็นวิธีที่ง่าย และไม่ได้ซับซ้อนอะไร และไข่ก็จะอยู่ในสภาพดี อาจจะมีการแตกบ้าง ขึ้นอยู่กับกล่องที่ใส่ ตอนซื้อไข่ควรหาไซส์ที่พอดีกับกล่องใส่ หากไข่เบอร์เล็กไป มันก็จะมีพื้นที่ขยับได้ ซึ่งก็จะทำให้มีโอกาสแตกได้นั่นเอง ส่วนไข่ที่เบอร์ใหญ่ไปจะมีปัญหาว่ามันล้นกล่องบ้าง ปิดกล่องได้ไม่สนิทบ้าง และตามมาด้วยการแตกเหมือนเดิม

กล่องสำหรับใส่ไข่ ก็จะมีไซส์ตั้งแต่ 4 ฟอง ไปจนถึง 12 ฟอง ปัจจุบันหาซื้อได้ไม่ยาก แต่ที่ไม่ค่อยมีใครใช้ เพราะคิดถึงตอนที่ไข่หมดแล้ว กล่องใส่ไข่จะกลายเป็นภาระไปทันที ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในเป้ และน้ำหนักของสิ่งที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เพราะหากใช้วิธี 1-4 ของที่แบกกลับจะน้อย และเบากว่า แต่ถ้าคำนึงถึงความสะดวก การแพ็คลงในกล่องใส่ไข่เป็นวิธีที่สะดวกมาก

6 แพ็คใส่แผง วิธีนี้เหมาะกับทริปที่มีสมาชิกหลายคน มีเมนูไข่หลายมื้อ แผงไข่บ้านเราใส่ไข่ได้ 30 ฟอง ถ้าต้องใช้ไข่ปริมาณนี้ การแพ็คด้วยวิธีอื่นค่อนข้างลำบาก แต่การจะใช้วิธีนี้ ต้องรับความเสี่ยงได้หลายอย่าง ทั้งการแตกเสียหายที่ต้องมีบ้าง หรือบางทีคนแบก ไม่เคยแบกไข่ทั้งแผง ก็มีความเป็นไปได้ว่า เราจะเสียไข่ไปทั้งแผงก็ได้

ดังนั้น การแพ็คไข่ทั้งแผง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่จะไปด้วย ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยส่วนใหญ่แล้ว คนเตรียมอาหาร หรือเตรียมเมนูจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงนี้ด้วย ว่าไม่สามารถนำไข่ไปในลักษณะนี้ได้ทุกพื้นที่

แผงไข่ที่นิยม จะเป็นแผงพลาสติก ประกบ แล้วมัดติดกันอย่างแน่นหนา และคนแบกจะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนแผงไข่แบบกระดาษนั้น มันจะเปื่อยยุ่ยเมื่อเจอน้ำ ถ้าต้องเจอฝนก็จบเห่เอวัง

มาถึงตรงนี้ก็พอจะมองเห็นแล้วว่า อาหารง่ายๆ กว่าจะได้กินนั้น ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด การได้กิน ไข่เจียว หรือไข่ดาวนั้น ถ้าได้ลองเตรียมเอง แบกเองแล้ว ความรู้สึกมันจะกลายเป็นอาหารที่สร้างความลำบากอยู่ไม่น้อย

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การเตรียมไข่ไปกินในทริปจะเป็นเรื่องที่วุ่นวายเกินเหตุ หากได้ลองแบกไข่ด้วยตัวเอง เมื่อถึงจุดหมายแล้วมันไม่แตก หมายความว่าสกิลการเดินป่าของคุณถือว่าดีใช้ได้เลยทีเดียว

 

2 การแพ็คผักสด

อันนี้ถ้าเทียบกับไข่แล้ว บอกเลยว่าธรรมดามาก มีทริคนิดหน่อยตอนเลือกผักที่ต้องใช้ ควรเป็นผักที่อยู่ได้นานๆ ไม่เหี่ยวไม่เฉาง่าย ยิ่งถ้าเป็นผักพวกตระกูลหัว แทบจะไม่ต้องการดูแลมากมาย เพราะมันมีความแข็งแรงในตัวเอง

ส่วนผักใบอ่อน จะใช้วิธีห่อด้วยกระดาษ ถ้าห่อได้ 2-3 ชั้นได้ยิ่งดี แต่ยิ่งห่อหลายชั้น ก็จะยิ่งเพิ่มน้ำหนัก การห่อด้วยกระดาษ นอกจากปกป้องใบ หรือผิวไม่ให้ช้ำแล้ว เป็นการซับน้ำที่เกิดจากการหายใจของผักด้วย ถ้าเราไม่ห่อด้วยกระดาษ แล้วใส่ถุงพลาสติก ผักจะร้อน ช้ำและเหี่ยวเร็วมาก

ถ้าหากเราไม่มีเวลาแพ็คด้วยกระดาษ จะใส่ถุงพลาสติกเลย ต้องเจาะรูถุงพลาสติกเพื่อระบายความชื้น และความร้อนจากการหายใจของผักด้วย

 

3 การแพ็คเนื้อสัตว์

ในอดีต แทบจะไม่มีการแพ็คเนื้อสัตว์ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทางความร้อนเข้าป่า เพราะแค่ไม่กี่ชั่วโมงเนื้อสัตว์สดๆก็ส่งกลิ่นเน่าแล้ว การเข้าป่าจึงอาศัยเนื้อสัตว์แห้ง เช่น เนื้อเค็ม หมูฝอย อะไรพวกนี้ไป พัฒนาขึ้นมาหน่อย ก็จะรวนจากบ้านไป การรวนก็จะทำให้มันสุกประมาณหนึ่ง ยังคงมีความฉ่ำ นุ่มของเนื้ออยู่ ไม่ได้แห้ง แข็ง อย่างเนื้อสัตว์ตากแห้ง

การรวน ซึ่งมักจะใส่เกลือลงไปด้วย เป็นการลดปริมาณจุลินทรีย์ ทำให้เนื้อสัตว์อยู่ในอุณหภูมิปกติได้นานขึ้น หากเป็นทริปที่ใช้เวลา 2-3 วันก็ถือว่าพอไหวอยู่

ในยุคใหม่ มีวิธีนำเนื้อสัตว์สดๆเข้าไปในป่าได้แล้ว รสชาติของเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการรวน ย่อมดีกว่า แต่มันต้องมีการเตรียมการที่ดี ซึ่งก็ไม่ได้ยากมากนัก นั่นคือการซื้อเนื้อสัตว์แช่แข็ง ไม่ว่าจะหมู ไก่ กุ้ง ปลา หมึก ทุกอย่างมีหมดในซุปเปอร์มาเก็ต

 

เมื่อได้มาแล้ว จะให้ดีต้องเอามาห่อด้วยกระดาษ แล้วใส่ในถุงพลาสติกอีกชั้น จะสลับชั้นกระดาษ และถุงพลาสติกแบบนี้ไปกี่รอบก็ได้ เพื่อรักษาอุณหภูมิของเนื้อสัตว์เอาไว้

เมื่อแพ็คแล้ว นำไปแพ็คไว้ในถังเก็บความเย็นอีกครั้งก่อนเดินทาง เมื่อถึงจุดเริ่มเดินค่อยแบ่งกันไปแบก

วิธีนี้เนื้อสัตว์จะอยู่ได้จนถึงเช้าอีกวัน แม้จะไม่มีการผ่านความร้อน หากจำเป็นต้องรวน ก็เท่ากับว่าเรายืดอายุมันไปได้ 1- 2 วัน ยิ่งในพื้นที่หนาวๆ เนื้อสัตว์พวกนี้จะละลายช้ามาก

 

4 การแพ็คอาหาแช่แข็ง เป็นการต่อยอดมาจากเนื้อสัตว์ที่แช่แข็ง แต่เป็นการนำอาหารที่ทำสำเร็จแล้วไปแช่แข็ง วิธีนี้สะดวกมาก และทำให้อาหารมีน้ำหนักน้อยลง ไม่ต้องแบกเครื่องปรุงไปเต็มสูตร และยังใช้เวลาในการทำอาหารน้อยลง เหมาะมากสำหรับมื้อที่เร่งด่วนอย่างมื้อแรกที่เดินถึงแคมป์

วันแรกในการเดินป่านั้นมักจะเหนื่อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการเดินขึ้นเนิน และต้องแบกน้ำหนักอาหารทั้งหมดที่มี ไปถึงแคมป์ก็แทบจะไม่อยากทำอะไรแล้ว พอมีของมาวางรวมกันในครัวจะดูวุ่นวายไปหมด แต่ถ้าเราเซ็ตมื้อแรกเป็นอาหารสำเร็จแช่แข็ง จะทำให้งานในครัวน้อยลง ได้กินข้าวเร็วขึ้น

ที่มาของอาหารแช่แข็ง อาจจะไม่ได้มาจากซุปเปอร์มาเก็ตเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากครัวที่บ้าน หรือร้านอร่อยก็ได้ โดยต้องใช้เวลาและการเตรียมการก่อนออกทริปสักหน่อย จะซื้อหรือทำเองก็ได้ ใส่ถุง แช่ไว้ในช่องแช่แข็งสัก 2-3 วันเป็นอย่างน้อย คราวนี้ไม่ว่าจะเป็ดปักกิ่ง ปลิงทะเลน้ำแดง ขาหมูเลิศรส ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

นอกจากการแช่แข็งอาหารแล้ว เรายังทำก้อนเครื่องแกงได้อีกด้วย แต่ต้องปรุงให้เข้มข้นมากๆ เพื่อจะเอาไปผสมน้ำตอนทำจริง เป็นการลดขั้นตอนการทำ และน้ำหนักของเครื่องเทศที่ต้องใช้อีกด้วย

การแช่แข็งนอกจากใช้กับเนื้อสัตว์ได้แล้ว ยังสามารถใช้กับผักบางชนิดได้อีกด้วย โดยการหั่นผักแบ่งใส่ถุงเป็นชุดๆ หรือแบ่งออกเป็นมื้อ แล้วนำไปแช่แข็ง ทำให้ลดพื้นที่และน้ำหนักของอาหารลงไปได้อีก

 

5 การใช้น้ำแข็งแห้ง อันนี้ก็พัฒนามาจากการแช่แข็งเหมือนกัน สมัยก่อนน้ำแข็งแห้งไม่ได้หาซื้อได้ง่ายนัก แต่ปัจจุบันมีแหล่งหาซื้อได้ทั่วกรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้หลากหลายนัก แต่เสาะหาได้ไม่ยาก ข้อดีของน้ำแข็งแห้งคือมันเย็นจัดในเวลาไม่นาน บางทีเราไม่มีเวลาเอาอาหารเข้าไปฟรีซในตู้เย็นได้หลายวัน ก็มีทางลัดด้วยการใช้น้ำแข็งแห้ง เพียงแต่ว่าต้องใช้ภาชนะที่ปิดได้มิดชิดเสียหน่อย

การใช้น้ำแข็งแห้ง นอกจากเราจะมีอาหารที่สดแล้ว หากวางแผนดีๆ เราสามารถพัฒนาอาหารออกทริปได้อย่างเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นซีฟู้ดมื้อเย็น ติ่มซำมื้อเช้า ไปจนถึงน้ำแข็งไส หรือไอติมเย็นๆบนยอดดอย

ข้อดีของน้ำแข็งแห้ง นอกจากทำความเย็นได้เร็ว ยังไม่มีน้ำเลอะเทอะเหมือนใช้น้ำแข็งปกติอีกด้วย

ส่วนข้อเสียที่สำคัญคือ หากมีการรั่วไหลของไอน้ำแข็งแห้งในพื้นที่อากาศไม่ถ่ายเท อาจทำให้ร่างกายได้รับคาร์บอนสูง หายใจไม่สะดวก ซึ่งในหลายๆทริปเดินทางโดยรถตู้ ก็จะทำให้ผู้โดยสารง่วงและหลับ ไปจนถึงสลบโดยไม่รู้ตัวได้

ดังนั้นหากต้องเดินทางโดยรถตู้ หรือรถที่มีพื้นที่ปิด ควรมีการซีลกล่อง หรือกระติกที่ใส่น้ำแข็งแห้งอย่างดีพิเศษจนมั่นใจว่ามีการรั่วไหล

 

5เทคนิคนี้ เป็นเทคนิคที่ใช้งานได้จริง เพียงแต่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาวะของแต่ละทริป หวังว่าในทริปต่อไป เราจะได้เห็นการเติมไอดียดีๆลงไปในเมนูบนยอดเขา ส่วนมาม่า และปลากระป๋องจะมีหน้าที่เป็นเพียงอาหารสำรองเท่านั้น และการเตรียมอาหารดีๆ จะทำให้คุณก้าวข้ามจากคำว่า “นักเดินป่ามือใหม่” เสียที

 

เรียบเรียงโดย ข้าวขาว

กรกฎาคม ๒๕๖๔

 

 

Post Comments

* ข้อมูลที่จำเป็น

เราไม่ส่งอีเมล์รบกวนบ่อย จะส่งเฉพาะมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ลดราคาประจำปี หรือ โปรโมชั่นใหญ่ๆ เท่านั้น