Blog - สเปคผ้า น่าปวดหัว ตอนที่ 1

 สเปคผ้า น่าปวดหัว ตอนที่ 1
โดย Thamrong admin 14/9/2021 18:03 ข้อคิดเห็น

การอยากได้เต็นท์ดีๆสักหลัง ฟลายชีทสักผืน หรืออุปกรณ์แคมปิ้งทั้งหลาย ต่างก็มีค่าสเปคยิบยับที่น่าปวดหัว

แต่ละอย่าง แต่ละชิ้น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

กว่าจะได้รู้ว่าอะไร เป็นอะไร กว่าจะได้ซื้อ หรือซื้อไปโดยไม่รู้ ก็มีอันให้ปวดใจกับกองอุปกรณ์ในบ้าน เพราะมันไม่จบเสียที ยกเว้นว่าจะเป็นคนสนุกกับการได้ทดลองใช้อุปกรณ์หลายๆอย่าง

โดยปกติเวลาเราจะซื้ออุปกรณ์ในส่วนที่เป็นผ้ากันน้ำ ปัจจัยที่ควรคำนึงมีดังนี้

1.สี เลือกเอาตามถูกใจ หรือเหมาะกับการใช้งาน

2.รูปทรง เลือกตามความถนัดในการใช้งานเป็นหลัก เลือกเอาตามความสวยงามเป็นรอง

3.วัสดุ อันนี้แหละที่ทำให้มึนงงที่สุด

4.ส่วนเสริมเพื่ออำนวยความสะดวก ถือเป็นปัจจัยสุดท้าย

 

เราจะมาคุยกันในเรื่องคุณสมบัติของวัสดุที่น่าปวดหัวกันนี่แหละ คุยกันให้เข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการเลือกใช้กันอีกต่อไป

แต่จะขอคุยเฉพาะตัวเป้งๆ ตัวสำคัญที่เห็นกันบ่อยๆ และเป็นตัวที่ควรรู้ไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเท่านั้น

รายละเอียดย่อย ๆที่นาน ๆจะเห็นสักครั้ง คงต้องขอเว้นไว้ในที่นี้ก่อน

 

1.เนื้อผ้า ไนลอน, โพลีเอสเตอร์

คุณสมบัติวัสดุอันดับแรกของผ้ากันฝนที่เขาจะบอกเราคือเนื้อผ้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมี 2 ชนิด คือไนลอน และโพลีเอสเตอร์ (Nylon, Polyester) แต่ก็จะมีเนื้อผ้าชนิดอื่นเข้ามาด้วยเช่น คอทตอล (Cotton) ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าในกลุ่มผ้ากันน้ำ คอทตอลเป็นผ้าที่เนื้อผ้าโดยธรรมชาติจะอุ้มมน้ำได้ดี การที่คอทตอลเข้ามาเป็นผ้ากันน้ำได้ จะต้องมีกระบวนการผลิตที่พิเศษขึ้น รวมถึงมีการเคลือบกันน้ำที่ดีเยี่ยม ซึ่งในที่นี้เราจะข้ามไปเพราะถือเป็นกลุ่มส่วนน้อย

คุณสมบัติของไนลอน และโพลีเอสเตอร์ที่เหมือนกัน คือการเป็นเส้นใยสังเคราะห์ มีเส้นใยที่เหนียว มีความบาง ความเบา ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติที่เหมาะกับการนำมาทำเป็นผ้ากันน้ำ กันฝนด้วยกันทั้งคู่

ถ้าเลือกจริงๆแล้ว คุณสมบัติพวกนี้เพียงพอแล้ว แต่เรามักก็จะสงสัยอยู่ดีว่า ในเมื่อมันเป็นผ้าคนละชนิด มันแตกต่างกันตรงไหน และสุดท้ายที่เราต้องการคือ อะไรดีกว่ากัน

การเลือกใช้สเปคในส่วนชนิดของผ้า ไม่ว่าจะเป็นไนลอน หรือโพลีเอสเตอร์ ถือว่าใช้งานได้ดีแล้วทั้งคู่

แต่เพื่อความเข้าใจที่ทำให้เลือกได้อย่างสบายใจขึ้น เรามาดูความแตกต่างเล็กๆน้อยๆของ 2 ตัวนี้กัน

 

ต้นกำเนิด

ไนลอน เกิดก่อนในบริษัท DuPont ยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์ หลังจากนั้นไม่กี่ปี โพลีเอสเตอร์ก็เกิดในห้องแลปที่อเมริกา แต่ความที่ไนลอนเกิดในบ้านใหญ่อย่าง DuPont  จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีพี่น้องตามออกมามากมาย ทุกตัวเป็นไนลอนทั้งหมด แต่มีคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกัน และถูกนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน เช่น Nylon6.6, Nylon6, Nylon6,10 เป็นต้น

ส่วนโพลีเอสเตอร์ ที่เกิดในห้องแลปในช่วงเวลาที่ไม่ได้ต่างกันมาก ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างจริงยัง ยังคงเป็นเส้นใยสังเคราะห์ที่เป็นนวัตกรรมค้างเติ่งอยู่ราว 10 ปี จนได้ DuPont รับไปดูแลและพัฒนาต่อ สุดท้ายเราก็ได้เห็นโพลีเอสเตอร์ที่ออกมาใช้งานได้จริง

ถ้ามองในเชิงลึก ถ้าคุณสมบัติของโพลีเอสเตอร์ไม่ดีจริง ดูปองท์คงไม่หยิบมาพัฒนาและผลิตต่อ เพราะดูปองท์เองก็มีไนลอนอยู่ในมืออยู่แล้ว ในทางกลับกัน หากไนลอนไม่ตอบโจทย์ในขณะที่รับโพลีเอสเตอร์เข้ามา ไนลอนก็คงไม่ได้ถูกผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

 

โครงสร้างทางเคมี

เราเรียกว่าไนลอน ตามที่ดูปองท์เรียก แต่ชื่อจริงคือโพลีเอไมด์ (Polyamide) และอย่างที่รู้โพลีเอไมด์ยังมีส่วนที่ไม่ได้ใช้เป็นเส้นใยอีกมากมาย คุณสมบัติกว้าง และเยอะมาก

ส่วนโพลีเอสเตอร์ แทบไม่ต้องอธิบายอะไร เพราะส่วนใหญ่ก็ใช้ชื่อนี้ ไม่ค่อยมีใครเอาไปเปลี่ยนชื่อ

ไม่มีความรู้ทางเคมี จะรู้เรื่องไปทำไม ใจจริงคืออยากอธิบายเรื่องที่ดูยากให้เข้าใจได้ง่ายๆด้วยภาพ ไม่ต้องใช้ความซับซ้อนอะไรมาก

คำว่าโพลีข้างหน้าของทั้ง 2 ตัว มีความหมายเดียวกันคือเป็นการบอกให้รู้ว่ามีโมเลกุลของสารตัวข้างหลังซ้ำๆกัน

ในภาพภายใต้วงเล็บคือ 1 หน่วยโมเลกุลที่ซ้ำๆกัน นอกวงเล็บจะเห็นว่ามีตัว n กำกับอยู่ n เป็นตัวแทนของตัวเลขที่เราไม่ต้องไปสนใจมัน มันจะซ้ำกันเท่าไหร่ไม่ใช่ประเด็นของเรา

ดูรูปแล้วจะเห็นว่าโครงสร้างภายในต่างกันตรงมีส่วนประกอบของ N หรือ Nitrogen เข้าไปอยู่ด้วย การมีอยู่ของไนโตรเจน ทำให้ไนลอนมีความยืดหยุ่นได้มากกว่า ส่วนโครงสร้างของโพลีเอสเตอร์นั้นเป็นโครงสร้างที่มีความแข็งแรงมากกว่า เรื่องโครงสร้างทางเคมีก็จะอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

 

     ความยืดหยุ่น

การส่งผลในการยืดตัว ทำให้มีข้อดีข้อเด่นต่างกัน การยืดตัวที่ดีเมื่อนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า ก็ทำให้ใส่สบายกว่า แต่ก็จะทนแรงดึงได้ประมาณหนึ่ง ถ้าบิดมากๆมันก็จะเสียรูป

และถ้านำไปทำผ้าฟลายชีท หรือทาร์ปเวลาดึงตึงๆ สักพักมันก็จะหย่อน แต่เมื่อนำไปทำเสื้อกันฝนจะมีการให้ตัวที่ดีมาก

แต่การยืดตัวนี้ เราหมายถึงการยืดตัวในขณะที่มันแห้ง ถ้ามันเปียก มันก็จะยืดตัวน้อยลง

ถ้าเทียบอัตราการยืดตัวกันแล้ว ไนลอนจะอยู่ประมาณ 25% ส่วนโพลีเอสเตอร์จะยืดประมาณ 15 %

 

     การดูดความชื้น

ด้วยโครงสร้างมันเช่นกันที่ทำให้ไนลอนอุ้มความชื้นไว้ในตัวได้มากกว่าผ้าใยสังเคราะห์ชนิดอื่น

แต่ถึงจะซับความชื้นได้ดีในกลุ่มใยสังเคราะห์ มันก็ยังถือว่าน้อยมากๆ ไม่ถึง 1%

การดูดความชื้นมากน้อยกว่ากัน มีผลเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง คือการแห้งเร็ว

พอจะเห็นว่าไนลอนดูดความชื้นได้ดีกว่า เราก็มองออกทันทีว่าหากเทียบการแห้งเร็วแล้ว โพลีเอสเตอร์จะแห้งเร็วกว่า

คุณสมบัติการดูดความชื้นนี้ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องไม่ดี แค่ว่ามันไปอยู่ถูกที่ถูกทางแค่ไหน

การดูดความชื้นได้ดีกว่า แสดงถึงการมีพื้นที่เหลือในระดับโมเลกุลมากกว่า การที่มันมีพื้นที่ให้ความชื้น ก็เท่ากับมันมีความอ่อนนุ่มมากกว่าด้วย

แม้ไนลอนจะดูดความชื้นได้ดีกว่าโพลีเอสเตอร์ แต่หากนำมาใช้เป็นผ้าที่ใช้ป้องกันน้ำ มันจะถูกเคลือบไว้ด้วยสารกันน้ำอีกชั้นหนึ่งอยู่ดี ดังนั้นแม้จะมีคุณสมบัติดูดซึมความชื้นได้ดีกว่า(นิดหนึ่ง) ก็ไม่ใช่ปัญหา

และการดูดซึมความชื้นได้ดีกว่า ก็หมายความกว่า การส่งผ่านของอากาศทำได้ดีกว่าเช่นกัน แต่โดยปกติแล้ว การทอเส้นใยทั้งสองชนิดนี้ หากต้องการให้มีการส่งผ่านของอากาศ จะมีการทอให้มีความห่างกัน แต่หากต้องการใช้กับการกันน้ำ จะทอแบบแน่นชิดติดกันมากๆจนอากาศแทบจะส่งผ่านไม่ได้อยู่แล้ว

 

แถมท้ายให้เรื่องเทรนด์ผ้าเอ้าท์ดอร์ในต่างประเทศนิดหนึ่ง นอกจากเขาจะเน้นเรื่องคุณสมบัติของผ้ากันน้ำแล้ว เขายังเน้นเรื่องการรีไซเคิลเข้ามาด้วย หลายๆแบรนด์เริ่มมีการแถมท้ายเข้ามาว่าเป็นผ้าที่ได้จากการรีไซเคิลจากขวด PET เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมโลกอีกทางหนึ่ง

 

ทั้งหมดนี้คือความแตกต่าง และความเหมือนของ Nylon  และ Polyester จะเห็นได้ว่ามันมีข้อดีด้วยกันทั้งคู่ อยู่ที่ว่าจะใช้มันกับชิ้นงานอะไร

โดยสรุป ไนลอนและโพลีเอสเตอร์มีความเหมือนกัน และเหมาะกับการเป็นอุปกรณ์เอ้าท์ดอร์คือ

     -  เป็นเส้นใยสังเคราะห์

     -  มีความแข็งแรงของเส้นใย

     -  อุ้มน้ำได้น้อย แห้งเร็ว

     -  น้ำหนักเบา

     -  ไม่ยับง่าย

คุณสมบัติที่แตกต่างกันเล็กน้อยมีดังนี้

     -  Nylon มีความยืดหยุ่นมากกว่า มีความนุ่มมากกว่า

     -  Polyester มีความแข็งแรงมากกว่า แห้งเร็วกว่า

นอกจาก Nylon, Polyester แล้ว โลกนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ทำจากเส้นใยต่างๆอีกมากมาย และเส้นใยสังเคราะห์ตัวใหม่ล่าสุดที่เริ่มเข้ามาในเมืองไทยบ้างแล้วคือ คิวเบนไฟบอร์ (Cuben Fiber) แม้ตอนนี้คิวเบนไฟเบอร์ยังไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายมากนัก แต่เชื่อว่า มันจะถูกพัฒนาให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่านี้ได้อย่างแน่นอน (ที่ยังแพร่หลายเพราะมีราคาที่สูงกว่าไนลอน และโพลีเอสเตอร์มาก)

สเปคคร่าวๆของคิวเบน หรือชื่อยาวๆว่า DYNEEMA® COMPOSITE FABRICS (DCF) มีความเหนียว ความแข็งแรง ความเบา ความบาง การป้องกันน้ำ ความทนทาน มากกว่าไนลอน และโพลีเอสเตอร์อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแน่นนอนว่ามันตามมาด้วยราคาที่สูงกว่าอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน  หากมีโอกาสจะหาข้อมูลโดยละเอียดมาบอกเล่ากันอีกที ตามคาดการณ์แล้ว คิวเบนไฟเบอร์มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาเบียดไหล่ไนลอน และโพลีเอสเตอร์ในไม่ช้าไม่นาน

 

ในตอนต่อไป เราจะมาว่ากันถึงเรื่องสเปคเส้นใยและการทอ โปรดติดตามตอนต่อไป

(ตอนที่ 2 Denier VS Thread)

 

เรียบเรียงโดย ข้าวขาว

กันยายน 2021

 

 

 

Post Comments

* ข้อมูลที่จำเป็น

เราไม่ส่งอีเมล์รบกวนบ่อย จะส่งเฉพาะมีกิจกรรมสำคัญๆ เช่น ลดราคาประจำปี หรือ โปรโมชั่นใหญ่ๆ เท่านั้น